ประโยชน์ของตะคร้อ

1481

ประโยชน์ของตะคร้อ อ้างอิงจากงานวิจัย
มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของตะคร้อในด้านต่างๆ ดังนี้

ฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอาการปวด (Anti-inflammatory and analgesic activity)
จากการศึกษาพบว่า บริเวณเปลือกต้นของตะคร้อมีสารพฤกษเคมีที่ชื่อว่า แทนนิน (Tannins) สารนี้มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบในร่างกายได้ และเมื่อทดสอบในหนูทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอาการปวดและอาการบวมที่อุ้งเท้า ต้านสารคาร์คาจีแนน (Carrageenan) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการบวม
ต้านการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Antiulcer activity)
จากสถิติพบว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั้งโลก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori รองลงมาคือ ผลข้างเคียงของยาแก้ปวด ในกลุ่ม NSAIDs ความเครียด และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

จากการศึกษาพบว่า ต้นตะคร้อ มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive) ที่ชื่อว่าไตรเตอร์ปีนอยด์ (Triterpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และแทนนิน (Tannins) ที่ช่วยต้านโรคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

สารแทนนินมีสรรพคุณช่วยสมานแผล ป้องกันการอักเสบ ลดการระคายเคือง ยิ่งไปกว่านั้นมีบางรายงานวิจัยกล่าวว่าสารแทนนินสามารถต้านการติดเชื้อ Helicobacter pylori ได้อีกด้วย
สารต้านมะเร็ง (Antineoplastic) และต้านอนุมูลอิสระ
ผลจากการทดสอบสารสกัดจากรากตะคร้อในหลอดทดลองพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งลำไส้สูงถึง 83% นอกจากนี้เมื่อสกัดผิวของเปลือกต้นตะคร้อด้วยสารไอคลอโรมีเทน-เมทานอล (Dichloromethane-methanol) ในอัตราส่วน 1:1 พบว่ามีสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แทนนิน (Tannins) และเซสควิเทอร์ปีน (Sesquiterpene) ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดเซลล์มะเร็ง และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Lymphocytic leukemia) ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Antibacterial and antimycotic effect)
สารสกัดน้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ (Kusum oil) อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ เควอซิทิน (Quercetin) ไตรเตอร์ปินอยด์ มีคุณสมบัติในการต่อต้านการเกิดเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคน (Candida albicans) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย