ประเพณี บุญข้าวสาก ของชาวอีสาน

2832

บุญข้าวสาก ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ประเพณี บุญเดือน 10 อีสาน

บุญเดือนสิบ หรือ บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า “บุญเดือนสิบ” ห่อข้าวน้อย มูลเหตุที่ทำ เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ ไปแล้ว.

ความเป็นมาของ สลากภัตตทาน
ความเป็นมาของสลากภัตตทาน ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า “เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า”ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปราถนา “ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด” ดังนี้. ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า “สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา” กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้.

คำถวายสลากภัต
เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.
พิธีกรรม ของ สลากภัต
เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 9 – 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย

ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน
หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง “ผีตาแฮก” ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว.

ที่มา : paknamubonclub